กำ ลัง
Blog Image

6 สาเหตุ การเลิกจ้าง เลิกจ้างแบบไหนจะไม่ได้รับค่าชดเชย?

โดยทั่วไปแล้ว เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง กฎหมายกำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง จะมากน้อยเพียงใดก็ว่ากันตามสิทธิของลูกจ้างแต่ละคนตามที่กฎหมายกำหนด หรือตามที่จะตกลงกันโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย 
แต่ก็มีข้อยกเว้นบางประการที่หากลูกจ้างกระทำจนเป็นเหตุให้ถูกเลิกจ้าง ลูกจ้างจะไม่สามารถเรียกร้องเงินค่าชดเชยและเงินทดแทนกรณีว่างงานได้ โดยมีสาเหตุดังต่อไปนี้

1. ลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
เมื่อลูกจ้างถูกเลิกจากจ้างกรณีทุตจริตต่อหน้าที่กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง มักเกิดขึ้นจากสาเหตุต่างๆ เช่น ลูกจ้างกระทำการโกงเงิน ยักยอกเงิน หรือแสวงหาผลประโยชน์จากบริษัทเพื่อไปเป็นของตัวเอง
2. ลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างหรือบริษัทได้รับความเสียหาย
ลูกจ้างที่ดำเนินการต่างๆ โดยความตั้งใจ หรือเจตนาที่จะสร้างความเสียหายให้กับนายจ้าง หรือบริษัท ถือว่าเข้าข่ายกระทำความผิดโดยบริษัทสามารถเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ถือเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
3. ฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบการทำงานอย่างร้ายแรง
การทำงานแต่ละที่ย่อมมีกฎระเบียบข้อบังคับ หรือคำสั่งจากนายจ้างที่ต้องถือเป็นข้อถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้นหากลูกจ้างกระทำการฝ่าฝืนหรือทำผิดระเบียบอย่างร้ายแรง หรือกระทำความผิดซ้ำๆ แม้ได้รับจดหมายตักเตือนแล้ว นายจ้างก็มีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่จ่ายค่าชดเชย
4. ละทิ้งหน้าที่ติดต่อกัน 7 วันทำงาน โดยไม่มีเหตุอันควร
ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่โดยไม่แจ้งลา ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ไม่สามารถติดต่อได้ต่อเนื่อง 7 วันทำงาน และทำให้นายจ้างหรือบริษัทได้รับความเสียหาย และไม่มีเหตุผลอธิบายการละทิ้งหน้าที่อย่างสมเหตุสมผลมากพอ ถือว่าเข้าข่ายถูกเลิกจ้างได้โดยไม่ได้รับสิทธิชดเชยใดๆ
5.ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายร้ายแรง
ความประมาทเลินเล่อ หมายถึง การกระทําการใดๆ โดยปราศจากความระมัดระวัง หรือโดยละเลยในสิ่งที่ควรกระทํา
นายจ้างที่ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จากความประมาทเลินเล่อของลูกจ้างที่กระทำการใดๆ โดยขาดความระมัดระวัง ทั้งที่สามารถคาดการณ์เห็นได้ชัดว่าจะมีความเสียหายเกิดขึ้น นายจ้างสามารถแจ้งเลิกจ้างและไม่จ่ายเงินชดเชยกับลูกจ้างได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
6. ลูกจ้างได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด หากเป็นความผิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายด้วย
ลูกจ้างที่กระทำความผิดและถูกศาลพิพากษาให้รับโทษจำคุก นายจ้างมีสิทธิให้ออกจากงานได้ทันทีโดยปริยาย และลูกจ้างไม่สามารถเรียกร้องขอค่าชดเชยหรือเงินทดแทนต่างๆ ได้

การถูกเลิกจ้าง หรือให้ออกจากงานอาจเป็นฝันร้ายของหลายๆ คน ยิ่งกรณีที่ไม่ได้เตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้าอาจทำให้การใช้ชีวิตหลังออกจากงานนั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก ยิ่งการออกโดยมีความผิดติดตัว นอกจากจะเสียโอกาสในหน้าที่การงานแล้ว ยังเสียโอกาสในการรับสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองต่างๆ ด้วย